Starfish

ปลาดาว ทะเล ( หรือ Starfish ใน ภาษาอังกฤษ ) กับ เรื่องลับ และ เรื่องรัก ของมัน คือ อะไร ?


Starfish


ปลาดาว (Starfish ภาษาอังกฤษ) กับ เรื่องลับ และ เรื่องรัก ของมัน

ปลาดาว...กับเรื่องลับ ๆ และเรื่องรัก ๆ
ปลาดาว ... กับเรื่องลับ ๆ
ปลาดาว ... ไม่ใช่ปลาเหรอ ?
“ ปลาดาว ” ( ปลาดาว ภาษาอังกฤษ คือ Starfish ) ที่ใคร ๆ ก็เคยได้ยิน ใคร ๆ ก็รู้จัก ใคร ๆ ก็หลงรักปลาดาว แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า “ปลาดาวไม่ใช่ปลา” ตอบคำถามว่า ปลาดาวเป็นปลาหรือไม่ ก่อนที่เราจะยอมรับว่า ปลาดาวไม่ใช่ปลา เราคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ปลา คือ อะไร แล้วอะไรบ้างที่เป็นปลา เช่นนั้นคงต้องขออธิบายตามหลักการวิทยาศาสตร์สักหน่อยว่า นิยามของ “ปลา” ในความหมายทางวิทยาศาสตร์นั้นคือ “สัตว์ที่มีแกนกระดูกสันหลัง หายใจด้วยเหงือก มีครีบช่วยในการว่ายน้ำ และมีถุงลมช่วยในการลอยตัว” ซึ่งปลาดาวไม่มีคุณลักษณะเช่นเดียวกับปลานี้เลย ดังนั้น ปลาดาวจึงไม่ใช่ปลา ส่วนปลาที่ตรงกับนิยามและความหมายนี้ก็มีอยู่หลายชนิด เช่น ปลาทู ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาช่อน ปลาหมอ ปลากระดี่ เป็นต้น

ปลาดาว คือ อะไร กันแน่ ?
ถามว่า ดาวทะเลมีกระดูกสันหลังไหม หรือ ปลาดาวมีกระดูกสันหลังไหม ปลาดาว เป็น สัตว์ทะเล ไม่มีแกนกระดูกสันหลัง บางคนอาจจะสงสัยว่า ปลาดาวมีกี่ขา ถ้าตอบจากเพลง ปลาดาวมันมี 5 ขา... แต่น้องๆ ซนหนักมาก ซึ่งจริงๆแล้ว มันเรียกว่า แขน เพราะปลาดาวจะมีลำตัวแบ่งออกเป็น 5 แฉก มีแขน 5 แขน ผิวลำตัวมีหนามเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจายทั่วลำตัว พวกมันว่ายน้ำไม่ได้เหมือนอย่างปลา แต่จะใช้เท้าเดินที่มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ ภาษาอังกฤษเรียก tube feet เดินไปเดินมาบนพื้นทราย หรืออาจจะไต่ขึ้นมาตามเสาสะพานท่าเทียบเรือบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ลักษณะเฉพาะตัวที่เป็น 5 แฉก ผิวเป็นหนาม และมีเท้าท่อแบบนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์จัดกลุ่มปลาดาวให้เป็นตัว “สัตว์ผิวลำตัวเป็นหนาม” หรือ “Phylum Echinodermata” นั่นเอง

ถ้า ปลาดาว ไม่ใช่ ปลา เรายังคงเรียกว่า “ปลา” ได้หรือไม่?
คำว่า “ปลาดาว” เป็นคำที่เราเรียกขานสัตว์ทะเล 5 แขนมาอย่างยาวนาน บรรพบุรุษของเราตั้งชื่อนี้ให้ ก็เพราะ เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเช่นเดียวกับปลาและมีรูปร่างคล้ายดวงดาว 5 แฉก จากนั้นเราก็เรียก ปลาดาวต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

ถึงวันนี้ วันที่วงการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพก้าวไกล และนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกมากมาย มากเกินกว่าจะจดจำได้ทั้งหมด จึงได้จัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตให้เป็นหมวดหมู่ ตามลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ สิ่งมีชีวิตตัวไหนมีลักษณะเฉพาะส่วนใหญ่ร่วมกัน ก็จะถูกนักวิทยาศาสตร์นำมารวมกลุ่มกัน วิชานี้เรียกว่า อนุกรมวิธาน หรือ taxonomy ด้วยหลักการนี้เอง ปลาดาว จึงไม่ใช่ปลา


Starfish



มีนักวิทยาศาสตร์บางคนพยายามให้เปลี่ยนมาเรียกว่า “ดาวทะเล” เพื่อจะให้คนไม่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปลา แต่ส่วนตัวคิดว่า ชื่อนั้นเป็นเพียงตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ตราบใดที่ผู้สื่อสารใช้คำว่า “ปลาดาว” กับผู้รับสาร แล้วผู้รับสารเข้าใจตรงกับผู้สื่อสารก็น่าจะเพียงพอแล้ว ดังนั้นใครใคร่จะเรียก “ปลาดาว” ตามที่ถนัดปากก็เรียกได้ หรือ ใครอยากจะเรียกว่า “ดาวทะเล” ก็ย่อมได้เช่นกัน





ญาติสนิทของ ปลาดาว มีใครบ้าง?
การลำดับญาติแน่นอนว่าคงต้องอ้างอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นมนุษย์เรา การที่จะบอกว่าใครเป็นญาติกับใครก็คงดูกันที่ความใกล้ชิดทางพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน พันธุกรรมและลำดับทางวิวัฒนาการ ได้ถูกนามาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดลำดับความใกล้ชิดกัน สำหรับปลาดาวนั้นมีความใกล้ชิดกับ ดาวขนนก ดาวเปราะ เม่นทะเล และปลิงทะเล ถือเป็นญาติสนิทกันที่สุดแล้ว เพราะมีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน ทั้งความที่ไม่มีแกนกระดูกสันหลัง ผิวลำตัวมีหนาม ลำตัวแบ่งออกเป็น 5 แฉก และเดินด้วยเท้าท่อ นั่นเอง
ปลาดาว มีพิษ หรือไม่ ?
ปลาดาวส่วนใหญ่ไม่มีพิษ เราสามารถจับได้ถ้าไม่กลัวหนามเล็กที่ผิวทิ่มแทง แต่ก็มีปลาดาวบางชนิดที่มีสร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ที่พลาดได้ ตัวที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ดาวมงกุฎหนาม หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Crown-of-thorns starfish ที่มีหนามยาวและแหลมคมอยู่ทั่วลำตัว และพร้อมที่จะทิ่มแทงผู้ที่ไปสัมผัสได้ทุกเมื่อ

ปลาดาว มีกี่ชนิด กันนะ ?
คงจะตอบได้ยากว่าปลาดาวมีกี่ชนิด แต่สามารถตอบรวม ๆ ได้ว่า ปลาดาวและญาติสนิทของปลาดาว หรือที่เรียกว่า สัตว์ในกลุ่มผิวลำตัวเป็นหนาม ทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 7,000 ชนิด ส่วนในประเทศไทยของเรามีประมาณ 380 ชนิด



ปลาดาว ... กับเรื่องรัก ๆ
ปลาดาว เป็น สัตว์ที่แยกเพศ กล่าวคือมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แม้ปลาดาวอาจจะไม่ได้มี “ความรักระหว่างหนุ่มสาว” ที่ชัดเจนเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ แต่ความรักของปลาดาวในที่นี้ ก็คือ การทำหน้าที่สำคัญในการดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองให้ดำรงอยู่ เฉกเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้
ปลาดาวตัวผู้ กับ ปลาดาวตัวเมีย รู้ได้อย่างไร?
ถ้าดูจากลักษณะภายนอก คงบอกไม่ได้ว่าปลาดาวตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมีย เพราะสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเพศผู้และเพศเมียของปลาดาวนั้นอยู่ภายในลำตัว ซึ่งถ้าต้องการรู้คงต้องผ่าดูอวัยวะสืบพันธุ์ และนั่นก็หมายถึงปลาดาวตัวนั้นอาจจะต้องตาย
เรื่องเอ็กซ์ ๆ ของ ปลาดาว
เมื่อถึง ช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ ปลาดาวส่วนใหญ่จะไม่จับคู่แบบตัวติดกัน แต่จะใช้วิธีการสื่อสารด้วยสารเคมีที่ปล่อยไปในน้ำทะเล เพื่อบอกให้ปลาดาวเพศตรงข้ามที่อยู่ใกล้ ๆ รู้ว่า “ ฉันพร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้วนะ เธอพร้อมหรือยัง? ” เมื่อปลาดาวรับรู้ได้ว่ามีปลาดาวตัวที่พร้อมจะผสมพันธุ์อยู่ใกล้ ๆ ทั้งคู่ก็จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของตัวเองออกมาในน้ำทะเล โดยตัวผู้จะปล่อยสเปิร์มที่มีลักษณะเป็นหมอกควันสีขาว ๆ ฟุ้งกระจายรอบ ๆ ตัว และตัวเมียก็จะปล่อยไข่ที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ ล่องลอยไปในน้ำทะเลจำนวนมาก




ความรักที่ต้องลุ้น ปลาดาว สเปิร์มจะพยายามว่ายน้ำทะเลไปหาไข่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีอุปสรรคมากมายขวางอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำที่อาจจะพัดให้สเปิร์มและไข่ให้ห่างออกจากกัน หรือแม้แต่สัตว์น้ำนานาชนิดที่จ้องคอยกินสเปริ์มและไข่ของปลาดาว จะมีเพียงสเปิร์มที่แข็งแรงและว่ายน้ำได้เร็วเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้พบกับไข่ที่โชคดีจนผสมกันกันได้ นับว่าเป็นความรักที่ต้องลุ้นกันตัวโก่งเลยทีเดียว
ทายาทของ ปลาดาว
เมื่อสเปิร์มกับไข่ได้ผสมกัน หรือภาษาวิชาการเรียกว่า “ปฏิสนธิ” และการปฏิสนธิที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกายของปลาดาวตัวเมียเช่นนี้ ถูกเรียกว่า “การปฏิสนธิภายนอก” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “External fertilization” ซึ่งสัตว์น้ำหลายชนิดก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกันนี้ เช่น ปะการังบางชนิด หอยบางชนิด ปลาบางชนิด เป็นต้น จากนั้นไข่ก็จะมีการพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไปตามระยะต่าง ๆ จนกระทั่งตัวอ่อนเริ่มลงเกาะที่พื้น หาที่ซ่อนตัว กินซากสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ เป็นอาหาร และค่อย ๆ เติบโตไปเป็นปลาดาวตัวเต็มวัยต่อไป
ปลาดาว ...ถูก ฟันแล้วทิ้ง จะเป็นอย่างไร?
มักมีคำถามที่ว่า ถ้าเราฟันปลาดาวออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้ปลาดาว 2 ตัวหรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ ปลาดาวบางชนิดสามารถที่จะสืบพันธุ์โดยไม่ต้องใช้เพศ กล่าวคือ ไม่ต้องใช้สเปิร์มกับไข่มาผลมกัน ก็สามารถเพิ่มจำนวนได้ โดยการหักบางส่วนของร่างกายให้เจริญเป็นตัวใหม่แม้เพียงเล็กน้อย เช่น แขนของดาวแขนยาว (Linkia spp.) เป็นต้น แต่ความสมบูรณ์และความแข็งแรงของปลาดาวที่เกิดในลักษณะนี้คงสู้ปลาดาวที่เจริญเติบโตมาจากไข่ไม่ได้



บทสรุปของ ปลาดาว ปลาดาว เป็น สัตว์ทะเล ที่มีไม่มีกระดูกสันหลัง มีญาติสนิทเป็น เม่นทะเล และ ปลิงทะเล ลักษณะพิเศษคือ ลำตัวแบ่งออกเป็น 5 แฉก ผิวลำตัวมีหนามเล็กบ้างใหญ่บ้าง จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “สัตว์ผิวลำตัวเป็นหนาม” หรือ “Echinodrmata” แยกเป็นตัวผู้และตัวเมีย สเปิร์มและไข่จะถูกปล่อยไปในน้ำทะเล ไข่ที่ได้รับการผสมจากสเปิร์มจะเจริญเติบโตไปเป็นปลาดาวตัวใหม่ต่อไป ปลาดาวที่ถูกสัตว์ทะเลกัดจนขาดเป็น 2 ส่วน สามารถจะงอกส่วนที่หายไปได้จนได้เป็นปลาดาว 2 ตัวใหม่ หรืออาจได้แค่เพียงตัวเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาดาวนั้น ๆ
“ดาว” ไม่จำเป็นต้องอยู่บนฟ้าเสมอไปนะอยู่ในน้ำก็ได้ แต่ดาวที่อยู่ในทะเล เราเรียกว่า “ปลาดาว”

เรื่องโดย อารมณ์ มุจรินทร์ (พี่เหมียว)
ช่อง Sea Secret: https://www.youtube.com/channel/UCWb2hRL-MNNVMSvtD6BTbfg


Starfish